ประวัติการก่อตั้งศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ

    เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2533 นายบรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายประเสริฐ มะหะหมัด จุฬาราชมนตรี เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ และการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการจัดแข่งขันการอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานระหว่างประเทศ ในโอกาสนี้จุฬาราชมนตรีได้ปรารภกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่ารัฐบาลได้จัดสร้างพุทธมณฑล เพื่อให้พี่น้องชาวไทยพุทธใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจมาเป็นเวลานานแล้ว รัฐบาลควรจัดหาสถานที่สำหรับให้ชาวไทยมุสลิมใช้เป็นศูนย์กลางในการประกอบกิจการทางศาสนาอิสลามบ้าง เช่น การจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย เป็นต้น

คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2533 ให้กระทรวงมหาดไทย จัดหาที่ราชพัสดุและงบประมาณเพื่อสร้างที่ประชุมสำหรับจัดงานเมาลิดกลางฯ โดยพิจารณารายละเอียดร่วมกับกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา

    ในการนี้ กระทรวงหมาดไทยโดยกรมการปกครอง จึงจัดทำโครงการก่อสร้างศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ ขึ้น ประกอบด้วย อาคารหอประชุม อาคารสำนักจุฬาราชมนตรี อาคารมัสยิด อาคารบ้านพักจุฬาราชมนตรี อาคารที่พักสำหรับผู้เดินทาง อาคารอเนกประสงค์ (โรงอาหาร โรงครัว) บ้านพักเจ้าหน้าที่ สนามอเนกประสงค์ และระบบสาธารณูปโภค ซึ่งใช้งบประมาณ 528 ล้านบาท กระทรวงการคลัง (กรมธนารักษ์) อนุญาตให้ใช้ที่ราชพัสดุบริเวณแขวงคลองสิบ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร จำนวน 50 ไร่ เป็นสถานที่ก่อสร้างฯ และสำนักงบประมาณ จัดสรรเงินงบประมาณให้กรมการปกครอง สร้างอาคารหอประชุมเพียงรายการเดียว โดยตั้งงบประมาณประจำปี 2537 และผูกพันงบประมาณในวงเงิน 204 ล้านบาท

    ดังนั้น เพื่อให้โครงการก่อสร้างศูนย์ฯ เป็นไปตามเป้าหมาย กระทรวงมหาดไทย (โดยกรมการปกครอง) จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2538 เห็นชอบโครงการ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ และให้ดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามความจำเป็นเร่งด่วน โดยมีวัตถุประสงค์

          1. เป็นที่จัดประชุมงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย

          2. เป็นศูนย์กลางการบริหารกิจการศาสนาอิสลาม ของจุฬาราชมนตรี

          3. เป็นศูนย์กลางการประสานงาน และให้ความรู้เกี่ยวกับการ ไปประกอบพิธีฮัจย์

          4. เป็นศูนย์ประสานงาน แลกเปลี่ยนข่าวสาร และส่งเสริมความ สัมพันธ์กับประเทศมุสลิม

          5. ให้ชาวไทยมุสลิมและประเทศมุสลิม เข้าใจเกี่ยวกับการอุปถัมภ์ศาสนาอิสลามของรัฐบาล

 

โดยให้ดำเนินการ รวม 8 รายการ ต่อไปนี้

                 1. ถมดินปรับปรุงบริเวณ

                 2. ก่อสร้างอาคารหอประชุม

                 3. ก่อสร้างรั้วคอนกรีตเสริมเหล็ก

                 4. อาคารที่พักเจ้าหน้าที่ดูแลสถานที่

                 5. อาคารสำนักงานจุฬาราชมนตรี

                 6. สนามอเนกประสงค์และสวนพักผ่อน

                 7. ระบบสาธารณูปโภค

                 8. อาคารมัสยิด

    หลังจากนั้น กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครอง จึงดำเนินการ ก่อสร้าง แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ระยะ รวมงบประมาณก่อสร้าง ประมาณ 328 ล้านบาท ดังนี้

    การก่อสร้างระยะที่ 1 อาคารหอประชุม ถมดินปรับบริเวณรั้ว รอบบริเวณ ใช้งบประมาณปี 2537 - 2542 รวมเป็นเงินค่าก่อสร้าง 157 ล้านบาท

    การก่อสร้างระยะที่ 2 อาคารสำนักจุฬาราชมนตรี บ้านพักเจ้าหน้าที่ สนามเอนกประสงค์ สวนผักผ่อน และระบบสาธารณูปโภค ใช้งบประมาณปี 2539 - 2542 รวมเป็นเงินค่าก่อสร้าง 80 ล้านบาท ระหว่างดำเนินการ ก่อสร้างเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ เป็นเหตุให้ผู้รับจ้างขาดสภาพคล่อง ทางการเงิน ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ กรมการปกครองจึงยกเลิกสัญญาจ้าง และได้จัดหาผู้รับจ้างรายใหม่ โดยรวมการก่อสร้าง ระยะที่ 1 - 2 เป็นสัญญาจ้างฉบับเดียว ใช้ส่วนเงินที่เหลือจ่ายเป็นค่าจ้างจำนวน 147 ล้านบาท ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2544

    การก่อสร้างระยะที่ 3 อาคารมัสยิด ใช้งบประมาณปี 2540 - 2544 ค่าก่อสร้าง 91 ล้านบาท ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2544

 

    เมื่อการก่อสร้างศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ ในส่วนที่ได้รับงบประมาณ ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว จุฬาราชมนตรีและคณะทำงานเข้ามาใช้เป็นสถานที่ทำการ โดยอาคารดังกล่าวได้แบ่งการทำงาน ดังนี้

   1. สำนักจุฬาราชมนตรี ชั้นที่ 3

   2. สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ชั้นที่ 2

   3. สำนักงานสถาบันมาตรฐานอาหารฮาลาล ชั้นที่ 1