โดย  อบุอัชรอฟวันอันศ็อร

       งานครบรอบ 25 ปี แห่งการเสริมสร้างเพื่อสันติภาพ ณ เมืองอัสซีซี  (The 25th Anniversary of the World Day of Prayer for Peace: A Day of Reflection, Dialogues and Prayer for Justice and Peace in the World) เป็นงานที่พระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 ได้สานต่อจากพระสันตะปาปา จอห์น ปอลที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ริเริ่ม โดยได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคม 2554 ณ เมืองอัสซีซี ประเทศอิตาลี ในงานครั้งนี้ได้เชิญผู้แทนศาสนาและลัทธิต่าง ๆ ทั่วโลกเข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย นอกจากศาสนาคริสต์แล้ว ก็มีอิสลาม ฮินดู- ซิกส์ โซโร-แอสเตอร์ พุทธ ขงจื้อ เต๋า และชินโต

ผู้แทนศาสนาอิสลามมาจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ อัลบาเนีย อัลจีเรีย ซาอุดีอาระเบีย อาเซอร์ไบจาน บอสเนีย บัลกาเรีย อียิปต์ ฝรั่งเศส จิออร์ดาเนีย อิหร่าน อิสราเอล อิตาลี ลิเบีย โมร็อกโค  โปรตุเกส ทาจิกิสถาน ตุรกี สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน อินโดนีเซีย บังกลาเทศ และไทย

        สำหรับผู้แทนประเทศไทย ประกอบด้วยผู้แทนจากสำนักจุฬาราชมนตรี ได้แก่  ดร.วิศรุต เลาะวิถี   ที่ปรึกษาจุฬาราชมนตรี และนายสุเทพ เลาะลาเมาะ ฝ่ายศาสนิกสัมพันธ์ สำนักจุฬาราชมนตรี เป็นผู้แทนเข้าร่วมงานดังกล่าว และมีผู้แทนศาสนาพุทธ ได้แก่ พระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการรามวรวิหาร ผู้นำคณะสงฆ์ไทย ซึ่งเป็นผู้แทนจากเถรสมาคม พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ดร.อำนาจ บัวศิริ รองผู้อำนวยการสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ    รวมทั้งแม่ชีศันสนีย์  เสถียรสุต และคุณพรรณวดี อมรมณีกุล แห่งเสถียรธรรมสถาน ส่วนผู้แทนศาสนาคริสต์ ได้แก่ มุขนายก ยอแซฟ ชูศักดิ์ สิริสุทธิ์ ผู้ปกครองสังฆมณฑล จังหวัดนครราชสีมา และบาทหลวงเปรมปรี วาปิโส      
เจ้าอาวาสวัดนักบุญยอแซฟ บ้านหันสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา โดยมี มงซิฌอร์ บาทหลวงวิษณุ   สัญญอนันต์ ปลัดสมณสภาเพื่อการเสวนาระหว่างศาสนา สำนักวาติกัน เป็นผู้ประสานงานหลักในการจัดครั้งนี้

       ในการนี้ ผู้แทนสำนักจุฬาราชมนตรีได้ออกเดินทางเมื่อวันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม 2554 เวลา 00.30 น. พร้อมด้วยผู้แทนศาสนาคริสต์ โดยสายการบินไทย ถึงกรุงโรม เวลาประมาณ 07.00 น. (เวลาท้องถิ่น) ตลอดวันแรกนี้ได้ไปเยือนสำนักวาติกัน เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของโรมันหลายแห่ง ทำให้เห็นถึงความเจริญทางสถาปัตยกรรมของโรมันในอดีต มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ สิ่งก่อสร้างของโรมันจะไม่ถูกทำลายหรือรื้อทิ้ง เพื่อปลูกสร้างสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ หากโครงสร้างเดิมยังสามารถใช้การได้ ก็จะมีการบูรณะซ่อมแซมเท่านั้น และยังคงอนุรักษ์ไว้

    วันอังคารที่ 25 ตุลาคม 2554 ได้มีโอกาสไปเยือนสถานที่ประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งคือ โคลีเซียม ซึ่งเป็นสถานที่ต่อสู้ระหว่างคนกับสิงห์โตในสมัยโรมัน ปัจจุบันโคลีเซียมเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง และมีนักท่องเที่ยวไปเยือนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสไปเยือนสถานีรถไฟ คล้ายกับสถานีรถไฟหัวลำโพงของบ้านเรา เป็นสถานีรถไฟชุมสาย ไม่ว่ารถไฟสายเหนือ สายใต้ หรือสายตะวันออก ตะวันตกก็ จะมาหยุดสถานีปลายทางที่นี่

   พุธที่ 26 ตุลาคม 2554 ได้มีโอกาสไปร่วมพิธีเสริมสร้างเพื่อสันติภาพ โดยมีพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 เป็นประธานในพิธี มีผู้แทนศาสนาต่างๆ เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง บังเอิญวันนี้มีฝนตกตอนเช้า ทำให้พิธีการต้องเปลี่ยนจากจตุรัตวาติกันกลางแจ้ง มาจัดในห้องประชุมแทน หลังจากนั้นในตอนบ่ายสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโรม ได้จัดเลี้ยงต้อนรับผู้แทนจากประเทศไทยทั้ง 3 ศาสนา ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย โดยมีคุณสมศักดิ์ สุริยวงศ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโรมเป็นเจ้าภาพ ทุกคนได้รับประทานอาหารไทยด้วยความสุข เนื่องจากใน 1-2 วันที่ผ่านมา ต้องรับประทานแต่สปาเก็ตตี้และมักโรนีเกือบทุกมื้อ ทำให้เกิดความรู้สึกว่า มีความต้องการอาหารไทยที่คุ้นปากเป็นอย่างมาก

นพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม 2554 ผู้แทนศาสนาทุกประเทศไปพร้อมกันที่สถานีรถไฟแห่งชาติวาติกัน เพื่อเดินทางไปเมืองอัสซีซี สถานที่จัดพิธีเสริมสร้างสันติภาพดังกล่าว ขบวนรถไฟเป็นขบวนเหมาเฉพาะผู้แทนศาสนาทุกประเทศเท่านั้น ไม่มีผู้โดยสารทั่วไปแต่อย่างใด รถไฟถึงสถานีซานตามาเรีย (Santa Maria degli Angeli in Assisi) เวลาประมาณเกือบ 10.00 น. ใช้เวลาการเดินทางประมาณ 1.45 ชั่วโมง ระหว่างทางมีเด็ก ผู้ใหญ่โบกมือให้การต้อนประมาณ 3 สถานี เมื่อผ่านสถานีดังกล่าว รถไฟก็จะแล่นช้า ๆ จนถึงสถานีรถไฟเมืองอัสซีซี เมื่อลงจากรถไฟแล้ว ก็ขึ้นรถบัส มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ ผู้แทนศาสนาทุกคนจะมีป้ายคล้องคอ ซึ่งมีชื่อประเทศ หมายเลขตู้ขบวนรถไฟที่นั่ง อักษรรถบัสที่ต้องนั่ง โดยระบุเป็น A B C D E F.... ประมาณ 15 คัน จะปรากฏที่ป้ายชื่อทั้งหมด รถบัสจะนั่งประมาณ 10-15 คน ส่วนผู้แทนศาสนาที่อาวุโส อาจขึ้น-ลงไม่ค่อยสะดวก ก็จะกำหนดให้นั่งรถบัสเล็กเหมือนบ้านเรา เพื่อความสะดวกในการขึ้น-ลง ตลอดทางจากสถานีรถไฟถึงบาซิลิกาแห่งซานตามาเรีย (Basilica of Santa Maria degli Angeli) ซึ่งเป็นสถานที่จัดพิธีดังกล่าว มีผู้คนโบกมือต้อนรับตลอดสองข้างทาง

เมื่อถึงบาซิลิกา (Basilica) แล้ว พิธีการเริ่มด้วยการกล่าวแนะนำโดย คาร์ดินาลปีเตอร์ ค็อดโว (Cardinal Peter Kodwo Appliah Turkson) ประธานสภาสังฆราชเพื่อความยุติธรรมและสันติภาพ (Presidnet of the Pontifical Council for Justice and Peace1) นำเสนอวีดีทัศน์การประชุมเมื่อปี 1986 และการกล่าวคำให้การเพื่อสันติภาพโดยผู้แทนศาสนาต่าง ๆ รวม 10 คน สำหรับผู้แทนศาสนาอิสลาม ได้แก่ ดร. คไย ฮัจญีฮาชิม มุซาดี (Dr. Kyai Haji Hasyim Musadi) เลขาธิการการประชุมโรงเรียนอิสลามนานาชาติ (Secretary General of the International Conference of Islamic Schools) สรุปได้ว่า “เราไม่ควรนำความต่างของแต่ละศาสนามาเป็นข้อขัดแย้งซึ่งกันและกัน แต่เราต้องนำความเหมือนของแต่ละศาสนา ซึ่งมีความหวังเดียวกันคือความกลมเกลียว ความไม่เบียดเบียน ความยุติธรรมและการยกระดับจิตวิญญาณของมนุษยชาติ เพื่อร่วมกันทำให้โลกนี้มีสันติภาพอย่างแท้จริง”

 

หลังจากนั้น พระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 แห่งวาติกัน ได้กล่าว พอสรุปดังนี้  “ความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้นอีก สงครามจะไม่เกิดขึ้นอีก และการก่อการร้ายจะไม่เกิดขึ้นอีก ในนามของพระเจ้า ขอให้ทุกศาสนาช่วยกันทำให้เกิดความยุติธรรม สันติภาพ ให้อภัย เพื่อชีวิตและความรักบนโลกใบนี้”

ต่อจากนั้น เป็นการรับประทานอาหาร แบ่งเป็น 2 ห้อง อาหารที่เลี้ยงเป็นข้าว มีลักษณะเหลว ๆ คล้ายข้าวต้มแบบข้นเหมือนบ้านเรา แต่มีถั่วลันเตาและอื่นๆ ประกอบด้วย รสชาติดี โดยมีน้ำผลไม้เสริฟตลอดเวลาและปิดท้ายด้วยผลไม้ เสร็จแล้ว ทุกคนก็จะออกไปปฏิบัติตามศาสนกิจของแต่ละศาสนา สำหรับมุสลิมก็มีห้องละหมาดอีกอาคารหนึ่ง สักครู่ทุกคนก็ขึ้นรถบัสมุ่งตรงไปที่ปิแอสซาซานฟรานซิสโก (Piazza San Francisco) ซึ่งตั้งอยู่บนเชิงเขาของเมืองอัสซีซี เป็นโบสถ์ที่สร้างสวยงามและมีสถานที่ว่าง ตั้งเวทีและเก้าอีนั่งเต็มพื้นที่ ระหว่างทางขึ้นก็มีประชาชนชาวเมืองอัสซีซียืนโบกมือให้การต้อนรับ สำหรับผู้แทนที่อาวุโสก็จะนั่งรถบัสเล็กขึ้นไป หากจะเดินขึ้นคงไม่ไหวแน่ เพราะเป็นทางเดินขึ้นลาดชันพอสมควร

พิธีการเริ่มด้วยการแสดงของกลุ่มเยาวชนชาวเมืองอัสซีซี ดูหลากหลายชาติพันธุ์ และร้องเพลงเพื่อสันติภาพ หลังจากนั้นเป็นการกล่าวสรุปการประชุม โดยผู้แทนศาสนาต่าง ๆ รวม 12 คน สำหรับผู้แทนศาสนาอิสลามได้แก่ เมาลานามุฮัมมัด ซุเบร อะบิด (Mulana Mohammed Zubair Abid) สรุปได้ว่า “เราขอยืนยันว่า การเปิดเผยด้วยความจริงใจ การเสวนาแฝงไว้ซึ่งขันติ และการปฏิเสธความแตกต่างที่จะเป็นอุปสรรคต่อกัน แต่ยอมรับและเผชิญหน้าที่เป็นความแตกต่างของคนอื่น ให้กลับกลายเป็นโอกาสเพื่อการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกันที่ยิ่งใหญ่เสมอ”

หลังจากนี้ ทุกคนก็ขึ้นรถบัสมุ่งสู่สถานีรถไฟอัสซีซีเพื่อเดินทางกลับนครวาติกัน รถไฟเคลื่อนขบวนออกจากสถานีประมาณ 19.00 น. ถึงสถานีรถไฟแห่งชาติเวลาประมาณ 20.45 น. และนั่งรถบัสเล็กกลับโรงแรมที่พัก รวม 8 คน ซึ่งพัก  ณ โรงแรมเดียวกัน หลังจากเปลี่ยนเครื่องแต่งกายแล้ว ก็ลงมารับประทานอาหารค่ำที่ห้องอาหารของโรงแรม

วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2554 หลังจากรับประทานอาหารเช้าที่โรงแรมแล้ว มีเจ้าหน้าที่ของสำนักวาติกันมารับพวกเราไปพร้อมกันที่ซาลาซีเมนตินาของพระราชวังวาติกัน (Sala Cementina of the Apostolic Palace) ซึ่งพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 ให้โอกาสผู้แทนทุกประเทศเข้าพบเป็นพิเศษ มีการมอบของที่ระลึกของผู้แทนศาสนาแต่ละประเทศ ส่วนพระสันตะปาปาก็มอบเหรียญที่ระลึกเป็นเหรียญ มูลค่า 5 ยูโร ให้ผู้แทนศาสนาแต่ละประเทศทุกคนด้วย หลังจากนั้น ทุกคนต้องเดินไปอีกอาคารหนึ่งเพื่อรับประทานอาหารกลางวัน เรียกว่าเอเทรียมแห่งออลาปาโลที่ 6  (Atrium of the Aula Palo VI) โดย คาร์ดินาลปาร์ซิสโก เบอร์โทนี (Cardinal Parcisio Bertone) เลขาธิการสำนักวาติกัน (Secretary of State of His Holiness) เป็นเจ้าภาพ และถือเป็นการสิ้นสุดการประชุมอย่างเป็นการ

จากการที่มีผู้แทนสำนักจุฬาราชมนตรีไปร่วมงานครั้งนี้ นอกจากเป็นการเผยแพร่กิจการศาสนาอิสลามในระดับนานาชาติแล้ว ยังทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศมุสลิมอื่น ๆ ได้รู้จักและเข้าใจประเทศไทยอีกมิติหนึ่ง กล่าวคือ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา แต่มีผู้แทนศาสนาอิสลามเข้าร่วมงานเพื่อเสริมสร้างสันติภาพโลกในครั้งนี้ด้วย และอาจเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่ชนส่วนใหญ่มิได้นับถือศาสนาอิสลาม แต่มีผู้แทนศาสนาอิสลามเข้าร่วมงาน ซึ่งนับเป็นภาพลักษณ์ที่ดีสำหรับประเทศไทยและกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทยด้วยความภาคภูมิใจยิ่ง