นิติเวช นิติวิทยาศาสตร์ในทรรศนะอิสลาม
  • 23 กุมภาพันธ์ 2018 at 10:15
  • 2749
  • 0

 

 

นิติเวช นิติวิทยาศาสตร์ในทรรศนะอิสลาม

 

 

การธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมยิ่งใหญ่กว่าการรักษาศพ

 

การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสภาวะธรรมชาติที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดไว้ในวิถีการดำรงชีพของมนุษย์ เมื่อเกิดแล้วแม้จะยังไม่แก่ แต่ก็อาจเจ็บและตายได้โดยไม่มีข้อยกเว้น สภาวการณ์เหล่านี้แม้เป็นสิ่งที่กำหนดโดยองค์พระผู้เป็นเจ้า และการณ์ทุกอย่างย่อมเป็นไปตามที่พระองค์ทรงกำหนด โดยไม่มีผลเป็นอื่น แต่พระองค์ก็ทรงปล่อยให้เหตุแห่งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย บางอย่าง อยู่ในการควบคุมและความรับผิดชอบของมนุษย์ เช่น การร่วมประเวณี ซึ่งชายหญิงอาจเลือกที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ เหตุบางอย่างที่นำไปสู่การแก่ก่อนวัย เช่น สูบบุหรี่ ก็ย่อมอยู่ในเจตจำนงของมนุษย์เองว่าจะสูบหรือไม่สูบ โรคภัยหลายอย่างก็เกิดจากมนุษย์เลือกที่จะก่อเหตุของมันเอง และเหตุที่ว่านี้มนุษย์อาจหลีกเลี่ยงไม่ทำเสียก็ได้ เช่นเดียวกับเหตุแห่งการตาย ซึ่งแม้จะไม่มีใครมาทำอะไรกับร่างกายของเรา แต่เหตุแห่งการตายก็ย่อมมาถึงอยู่ดี ในกาละและเทศะที่ถูกกำหนดไว้ ตามวิถีแห่งพระผู้เป็นเจ้า ที่สำคัญและชวนให้คิดคือ การตายตามวิถีแห่งความเสื่อมของร่างกาย ซึ่งอาจเรียกว่า การตายตามธรรมชาตินั้น ไม่มีใครต้องรับโทษหรือรางวัลจากการตายนั้น เพราะมันดำเนินไปตามวิถีแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า แต่การตายที่ผิดธรรมชาติ ย่อมต้องมีคนรับผิดชอบ เพราะมันเกิดขึ้นโดยสาเหตุที่คนเราเลือกได้ว่าจะก่อหรือไม่ก่อเหตุนั้นขึ้นมา หากเหตุที่คนๆ หนึ่งเลือกก่อ เป็นเหตุอันพระผู้เป็นเจ้าสนับสนุน เช่น การประหารชีวิตฆาตกรที่ต้องโทษประหารตามหลักอิสลาม ผู้ดำเนินการก็ย่อมได้รับรางวัลจากการกระทำของตน แต่หากการก่อเหตุนั้น ไม่เป็นไปตามหลักธรรมของพระผู้เป็นเจ้า เป็นเหตุอันขัดแย้งกับหลักศาสนา เช่น การฆ่าผู้อื่นเพื่อแย่งชิงทรัพย์สิน หรือเจ้าของร่างกายฆ่าตัวเอง ผู้ลงมือฆ่าก็ต้องได้รับโทษจากการกระทำนั้น หากเขาลงมือด้วยเจตจำนงเสรีของตน

 

จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นการให้รางวัลแก่ผู้ก่อเหตุแห่งการตาย หากเหตุนั้นสอดคล้องกับหลักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญญัติไว้ หรือการลงโทษผู้ก่อเหตุแห่งการตาย หากเหตุนั้นขัดแย้งกับหลักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญญัติ วัตถุประสงค์สำคัญคือ การธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม หากจะกล่าวให้ลึกลงไปอีกก็คือ ที่สวรรค์และนรกถูกเนรมิตขึ้นนั้น นัยหนึ่งก็เพื่อสำแดงความยุติธรรมนั่นเอง เพราะคนทำดีซึ่งส่วนใหญ่ต้องต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ นานา ด้วยความเหนื่อยยากตรากตรำ ควรได้รับผลตอบแทนความเหนื่อยยากด้วยสิ่งดี ๆ ดุจเดียวกัน ส่วนคนทำชั่ว ซึ่งย่อมก่อให้เกิดความเสียหาย เจ็บปวด สูญเสียและเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ก็ต้องได้รับการตอบแทนที่เจ็บปวดเช่นเดียวกัน

 

นี่เป็นหลักใหญ่ของอิสลามที่มุสลิมทุกคนต้องไม่ลืม ยิ่งเป็นผู้รู้ยิ่งต้องตระหนักมากกว่าชาวบ้านชาวช่องธรรมดา เพราะผู้รู้จะต้องทำให้คนทั้งหลายได้เห็นและเข้าใจว่าอิสลามคือดุลยภาพแห่งชีวิต และความยุติธรรมที่ทุกคนแสวงหา ทุกกฎเกณฑ์ที่อัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญญัติ ย่อมนำสู่ความยุติธรรม การอ้างอิง คำสอนของอัลลอฮ์หรือศาสนทูตของพระองค์ เพื่อให้ทำหรือไม่ให้กระทำการหนึ่งการใด หากการอ้างอิงนั้น นำไปสู่ภาวะความอยุติธรรม เช่น คนทำดีสูญเสียสิทธิ หรือ คนทำชั่วลอยนวล ย่อมบ่งชี้ว่าผู้อ้างอิงยังมองอิสลามแบบแยกส่วน ไม่เข้าใจบริบทของสิ่งที่นำมาอ้างอิง และไม่คำนึงถึงเป้าหมาย (มะกอสิด) ของกฎเกณฑ์ที่อิสลามกำหนด เพราะเมื่ออัลลอฮ์ทรงประสงค์ให้เกิดความยุติธรรม ดังที่ทรงบัญชาไว้ในอัลกุรอาน ซูรอฮ์ อัน นิซาอฺ อายะฮ์ที่ 58 ใจความว่า

“ความจริง อัลลอฮ์ทรงบัญชาให้พวกเจ้าต้องรับผิดชอบต่อเจ้าของสิทธิต่างๆ และทรงบัญชาให้พวกเจ้ามีความเป็นธรรม เมื่อต้องตัดสินคดีความในหมู่มนุษย์”

เมื่อทรงวางเป้าหมายของการตัดสินใดๆ ว่าต้องมีความเป็นธรรม ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะทรงวางกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เป็นอุปสรรคขัดขวางความยุติธรรมที่ทรงประสงค์ เราอาจเห็นคณะบุคคลที่ทำหน้าที่ร่างกฎหมาย หรือระเบียบต่างๆ ออกมา แล้วก็พบในกาลต่อมาว่ากฎหมายหรือระเบียบที่ตนเขียนขึ้นนั้นขัดแย้งกันเอง แต่การเช่นนั้นย่อมไม่เกิดกับอัลลอฮ์ (ซุบหานะฮฺ) พระผู้ทรงสร้างชีวิตและสรรพสิ่งทั้งมวล ทรงรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เป็นความรู้อย่างองค์รวม ทุกองคาพยพต่างประสาน เชื่อมโยง สัมพันธ์และสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ที่พระองค์ทรงสร้าง

 

หลักนิติบัญญัติอิสลาม ระหว่างการดำรงเกียรติของศพและการดำรงความเป็นธรรมในสังคม

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงให้เกียรติ ไม่ว่าจะในยามมีชีวิตหรือเสียชีวิตแล้ว ภายใต้หลักของการให้เกียรติ จึงห้ามทำการใดก็ตามที่จะทำให้ร่างกายเสียหายหรือพิกลพิการ ไม่เฉพาะในยามมีชีวิตเท่านั้น แต่แม้จะหมดลมหายใจไปแล้ว ก็ยังห้ามกระทำการใด ๆ กับศพ อันแสดงถึงการลบหลู่ หมิ่นหยามอย่างเด็ดขาด นั่นเพราะถึงชีวิตและลมหายใจจะหาไม่แล้ว แต่เกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ยังคงอยู่ นี่เป็นที่มาแห่งวจนะศาสนทูตที่บันทึกในประมวลวจนะฉบับอบูดาวูด ลำดับ 3207 และฉบับอิบนุมาญะฮ์ ลำดับที่ 1616 ความว่า


“การหักกระดูกศพ มีผลประหนึ่ง การหักกระดูกคนมีชีวิต”


อย่างไรก็ตาม ชีวิตมนุษย์ไม่ได้มีด้านเดียว แต่เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน และมีมากมายหลายด้าน ยิ่งอยู่รวมกันเป็นหมู่มากเท่าใด ก็ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น การคิดหรือเห็นอะไรเพียงด้านเดียว เป็นลักษณะของมนุษย์ แต่ย่อมมิใช่คุณลักษณะแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ทรงบัญญัติจึงพร้อมรองรับสถานการณ์ต่างๆ ได้ในทุกด้านและทุกยุคทุกสมัย เช่น 3 หลักการต่อไปนี้


“บุคคลย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์โดยพื้นฐาน” “ให้ยอมรับความเสียหายเฉพาะส่วน เพื่อป้องกันความเสียหายแก่ส่วนรวม”
 และ “เมื่อความเสียหายสองด้านเกิดขัดแย้งกันให้คำนึงถึงความเสียหายด้านที่จะเกิดกับคนส่วนใหญ่ ด้วยการยอมรับความเสียหายด้านที่น้อยกว่า”

 

บุคคลย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์โดยพื้นฐาน


เป็นหลักใหญ่ที่ทำให้การลงโทษบุคคลใดจะทำไม่ได้ ยกเว้นมีหลักฐานที่ยืนยันว่าบุคคลนั้นกระทำผิดจริง


การกระทำผิดของบุคคล ไม่ใช่พื้นฐานของความเป็นมนุษย์ แต่เป็นสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง เราจึงเห็นได้ว่าอิสลามมิได้คำนึงถึงแต่เฉพาะสถานภาพพื้นฐานอันบริสุทธิ์ของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังได้กำหนดบทลงโทษต่างๆ เอาไว้รองรับครบถ้วน บทลงโทษดังกล่าวมีตั้งแต่การทำให้อับอายไปจนถึงการประหารชีวิต การลงโทษเมื่อบุคคลกระทำผิด ย่อมมิใช่การรื้อทำลายหลักการให้บุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนแต่อย่างใด เพราะเป็นการกระทำที่มีลักษณะเฉพาะกิจและเฉพาะกาลหนึ่งๆ ซึ่งมิได้เกิดขึ้นเป็นปกติ แต่เกิดขึ้นเป็นบางโอกาสเท่านั้น ที่สำคัญเป็นบทเฉพาะกาลที่มีเป้าหมายเพื่อดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมในสังคม ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่กว่าการคำนึงถึงสิทธิของบุคคลเพียงคนเดียว

ในทำนองเดียวกัน การให้เกียรติแก่ร่างกายของบุคคล มิได้หมายความว่าจะไม่สามารถทำอะไรกับร่างกายได้เลย ร่างกายที่สมบูรณ์เป็นพื้นฐานของชีวิต แต่การเจ็บไข้ได้ป่วยก็อาจเกิดขึ้นได้ในบางครั้งคราว การรักษาอาการบาดเจ็บ ย่อมมิอาจถือว่าเป็นการทำร้ายร่างกาย หากจำเป็นต้องเยียวยาด้วยการตัดอวัยวะบางส่วนออกไป เพื่อรักษาอวัยวะส่วนใหญ่เอาไว้ ก็จำเป็นต้องทำ โดยไม่ถือว่าเป็นการทำร้ายร่างกาย หรือไม่ให้เกียรติแก่ความเป็นมนุษย์แต่อย่างใด ทั้งนี้เป็นไปตามหลักนิติบัญญัติอิสลามที่ว่า

“ให้ยอมรับความเสียหายเฉพาะส่วน เพื่อป้องกันความเสียหายแก่ส่วนรวม” ศพหนึ่งศพ ย่อมถือเป็นส่วนย่อยของสังคม หากการดำรงความยุติธรรมในสังคมซึ่งเป็นเรื่องส่วนรวม จำเป็นต้องทำให้ศพเสียหายไปบ้าง ก็ต้องยอมรับความเสียหายนั้น เพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดกับส่วนรวมนั่นเอง สอดคล้องกับหลักการที่ 3 ซึ่งผู้เขียนนำมาอ้างในที่นี้ คือ

“เมื่อความเสียหายสองด้านเกิดขัดแย้งกันให้คำนึงถึงความเสียหายด้านที่จะเกิดกับคนส่วนใหญ่ ด้วยการยอมรับความเสียหายด้านที่น้อยกว่า”

 

สรุป


พิจารณาจากแนวทางนิติบัญญัติเช่นนี้ เราจึงอาจสรุปได้ไม่ยากว่า การตรวจชันสูตรศพ ทำได้หรือไม่ได้อย่างไร หากพิจารณาจากหลักการพื้นฐานว่าศพ จะต้องได้รับการให้เกียรติ ย่อมไม่ได้หมายความว่า หลักการนี้จะถูกทำลาย เพียงเพราะศพถูกตรวจชันสูตร เพราะการชันสูตรจะทำได้ในสภาวการณ์เฉพาะกิจเฉพาะกาลเท่านั้น เป็นสภาวะเฉพาะกาลที่ไม่ได้เกิดอย่างปกติสม่ำเสมอ และจะต้องเป็นไปเพื่อรักษาชีวิตและผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เอาไว้เท่านั้น

หากการลงโทษคนมีชีวิตที่กระทำผิดมิได้ทำลายหลักนิติบัญญัติที่ว่า “บุคคลย่อมมีสถานภาพพื้นฐานเป็นผู้บริสุทธิ์” การตรวจชันสูตรศพ ก็มิได้ทำลายหลักการให้เกียรติแก่ศพแต่อย่างใดเช่นกัน เพราะทั้งสองสภาวการณ์ล้วนมีเป้าหมายเพื่อดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมในสังคมทั้งสิ้น

การตรวจชันสูตรศพยังสอดคล้องกับหลักการอีก 2 ข้อต่อมา กล่าวคือ การชันสูตรอาจทำความเสียหายแก่ศพ แต่เป็นความเสียหายเฉพาะส่วนเฉพาะตัว และเป็นความเสียหายที่ต้องยอมรับ เพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของส่วนรวมอันสำคัญ คือการผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมนั่นเอง ส่วนหลักการข้อสุดท้ายที่ให้คำนึงถึงความเสียหายอันอาจจะเกิดกับคนส่วนใหญ่ ด้วยการยอมรับความเสียหายที่น้อยกว่า ก็มีความชัดเจนในตัวอยู่แล้ว เพราะการไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครคือฆาตกร อันเนื่องจากไม่สามารถตรวจพิสูจน์ศพ ย่อมก่อเกิดความเสียหายแก่สังคมโดยรวมได้ เพราะฆาตกรย่อมลอยนวล และอาจไปก่ออาชญากรรมต่อบุคคลอื่นๆ ต่อไปอีก ขณะที่การตรวจชันสูตรสร้างความเสียหายเพียงเล็กน้อยแก่ศพ ซึ่งต้องยอมรับ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับคนส่วนใหญ่นั่นเอง

สำนักจุฬาราชมนตรี


โดย  ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ  
ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรีประจำภาคใต้
หัวหน้าฝ่ายวิชาการและการต่างประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา