ระบบธนาคารอิสลามเทียบกับระบบธนาคารพาณิชย์
  • 23 กุมภาพันธ์ 2018 at 10:01
  • 18992
  • 0

โดย อ.อรุณ บุญชม


ธนาคารพาณิชย์ ทั่วไป เป็นองค์การที่เป็นศูนย์รวมแหล่งระดมเงินทุน จากผู้มีเงินออม ทำหน้าที่ให้บริการทางการเงินแก่ผู้ที่ต้องการเก็บรักษาเงิน และ ประกอบธุรกรรมทางการเงินซึ่งดำเนินธุรกิจตามหลักทฤษฎีดอกเบี้ยเป็นพื้นฐาน สำหรับธนาคารอิสลามนั้นทำหน้าที่เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่ดำเนินธุรกิจตามทฤษฎีตัวแทนทางการเงินที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบดอกเบี้ย ธนาคารพาณิชย์ และ ธนาคารอิสลามมีความแตกต่างที่สำคัญคือ ระบบผลตอบแทนกล่าวคือ ในระบบธนาคารอิสลามนั้นใช้ระบบแบ่งปันผลกำไรขาดทุน (Profit and losssharing / PLS) แทนระบบดอกเบี้ยในส่วนของการบริหารจัดการของธนาคารอิสลามนั้นอยู่บนพื้นฐานของหลักการของศาสนาอิสลาม ที่เกี่ยวกับการอนุมัติ (หะลาล) และการไม่อนุมัติ (หะรอม) ให้กระทำหรือไม่ให้กระทำกิจกรรมในการประกอบธุรกิจ ซึ่งธนาคารจะต้องดำเนินธุรกรรม และให้บริการทางการเงิน เฉพาะสิ่งที่ศาสนาอนุมัติเท่านั้น กิจการหรือการประกอบกิจกรรมที่มีสิ่งที่ผิดกับหลักการของศาสนานั้นไม่สามารถดำเนินการได้ สำหรับการให้บริการอื่นๆ ที่ไม่ผิดหลักศาสนาก็สามารถให้บริการเหมือนกับธนาคาพาณิชย์ทั่วไปได้

ข้อดีของระบบธนาคารอิสลาม เทียบกับระบบธนาคารพาณิชย์
ธนาคารอิสลามเป็นสถาบันการเงินที่มีฐานะ บทบาท และขั้นตอนการดำเนินงาน อยู่บนพื้นฐานของหลักการเงินอิสลามโดยไม่มีการรับ และจ่ายดอกเบี้ย เป็นสถาบันการเงินที่ดำเนินการบนพื้นฐานในระบบกำไรขาดทุนร่วมกัน (Profit and losssharing / PLS) หมายถึงทั้งฝ่ายธนาคาร ผู้ฝากเงิน และผู้ใช้บริการทางการเงินไม่ได้แยกออกจากกัน เหมือนระบบธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ทุกฝ่ายมีความเสี่ยงร่วมกัน และบนพื้นฐานการประกอบธุรกิจที่ได้กำหนดไว้ในพระดำรัสของอัลเลาะห์ (คัมภีร์อัลกุรอาน) และแบบฉบับ ศาสดา(ซุนนะห์) เพื่อนำไปสู่ความยุติธรรม ความเสมอภาค และเท่าเทียมกันของสังคมร่วมกัน

จะเห็นได้ว่าหลักการธนาคารอิสลาม แตกต่างไปจากระบบธนาคาร ตามปกติทั่วไปกล่าวคือ

1.อิสลามห้ามเกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย เพราะอิสลามถือว่าดอกเบี้ย เป็นส่วนหนึ่งของความไม่ยุติธรรมและเป็นภัยมากกว่าเป็นผลดี โดยเฉพาะในเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ

2.นอกจากดอกเบี้ยแล้วอิสลามยังห้ามเกี่ยวข้องกับธุรกิจต้องห้ามตามหลักศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นอบายมุขที่ซึ่งแม้จะสร้างรายได้ในรูปตัวเงิน แต่พิษภัยต่อสังคมของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอบายมุขนั้นสร้างความเสียหายให้แก่สังคมเกินกว่าเงินที่ได้รับมา

3. สัญญาการทำธุรกรรมในระบบธนาคารอิสลามมิใช่สัญญากู้เงิน มูลหนี้การทำธุรกธรรมในระบบอิสลามจึงเป็นที่ชัดเจนตายตัว และจะไม่มีการเพิ่มมูลหนี้อันเนื่องมาจากการผิดชำระดังเช่นในระบบดอกเบี้ย หากลูกค้าผิดสัญญา ธนาคารจะพิจารณาสภาพของลูกค้าโดยอาศัยหลักคุณธรรม ถ้าหากลูกค้าได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น เช่น อุทกภัยเป็นต้น ธนาคารจะผ่อนผันให้ แต่ถ้าหากลูกค้ามีเจตนาไม่ผิดชำระธนาคารจะปรับเพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการเงิน โดยธนาคารจะปรับเฉพาะงวดที่ขาดส่งเท่านั้น และไม่ได้คิดจากยอดเงินที่ลูกค้าเป็นหนี้ธนาคาร บวกด้วยอัตราผลกำไรที่ถ้าหากธนาคารนำ เงินจำนวนที่ขาดส่งไปลงทุน ในช่วงเวลานั้น ตามประกาศของธนาคาร และเงินค่าปรับนี้จะต้องนำเข้าบัญชีริจาค จะไม่นำเข้าบัณชีรายรับของธนาคาร และจะนำไปใช้ในทางสาธรณกุศล และธนาคารอาจจะนำหลักทรัพย์ค้ำประกันไปขาย และนำเงินที่ขายได้มาชำระหนี้ที่ลูกค้ายังค้างอยู่ ส่วนเงินที่เหลือจะคืนให้แก่ลูกค้าที่ค้างชำระ

4. ระบบธนาคารอิสลามสามารถควบคุมและป้องกันการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ได้มากกว่า เพราะธนาคารอิสลามไม่ได้ให้เครดิตเป็นตัวเงินออกไป

5. ความแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือกำไรที่เกิดจากการประกอบการจะนำไปจ่ายเป็นทานที่เรียกว่า “ซะกาต” ร้อยละ 2.5 ตามข้อบังคับของอิสลาม ทั้งนี้เพื่อนำไปใช้สำหรับสงเคราะห์สังคม เช่น คนยากจน คนขัดสน คนมีหนี้สินล้นพ้นตัว และสาธารณสุขกุศลอื่นๆ ซึ่งจะมีผลดีย้อนกลับมาสู่ธนาคารในระยะยาว

6. ธนาคารอิสลามอาจให้ลูกค้าที่ดียืมเงินในรูปของการเบิกเงินเกินบัญชีโดยไม่ดิดดอกเบี้ย เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกค้าในระยะสั้นๆ ซึ่งจะเป็นผลดีแก่ธนาคารเองในอนาคต การให้ยืมเช่นนี้ในศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า “ก็อรดุนฮะซัน” หรือ “การให้ยืมที่ดี” แต่ถึงกระนั้นก็ตามการให้ยืมนี้จะต้องมีหลักประกันเพื่อความปลอดภัยในทรัพย์สินของธนาคารและผู้ฝากด้วย

7. เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินงานของธนาคารอิสลาม เป็นไปตามหลักการอิสลามอย่างถูกต้องแท้จริง ธนาคารอิสลามจะมีผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านศาสนาเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาของธนาคาร และให้การรับรองการดำเนินการของธนาคาร

โครงสร้างของธนาคารอิสลาม
โครงสร้างของธนาคารอิสลาม มีความแตกต่างกับธนาคารพาณิชย์ คือ เป็นธนาคารที่ดำเนินธุรกรรมทางการเงิน ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายอิสลาม (ชะรีอะห์) โดยวางอยู่บนรากฐานของหลักการหุ้นส่วน กล่าวคือ ทั้งระบบธนาคารผู้ถือหุ้น ผู้ฝากเงิน ผู้ลงทุน และผู้ยืมจะร่วมกันเป็นหุ้นส่วน หลักการนี้จะทำให้ทุนและแรงงานสามารถรวมกันได้ในฐานะหุ้นส่วนในการประกอบการซึ่งมีลักษณะที่มีความเสี่ยงร่วมกัน เป็นความเสี่ยงในเรื่องของผลตอบแทนในรูปของการแบ่งปันผลกำไรขาดทุน ในระบบธนาคารอิสลามนั้นเป็นความเสี่ยงทั้งผู้ฝากเงิน ธนาคารและผู้ประกอบการ ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของธนาคารซึ่งเป็นความเสี่ยงระดับสูง ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องรับประกันความเสี่ยงของลูกค้า ด้วยการจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ฝากเงินตามสัญญาและสำหรับผู้ประกอบการนั้นจะคาดหวังในเรื่องของรายได้ โดยในภาพรวมของธนาคารที่อยู่ในรูปของการแบ่งปันของกำไรนั้นมักจะประสบความสำเร็จในโครงการที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก การร่วมกันของการเป็นหุ้นส่วนมิใช่การรวมกันแต่เฉพาะด้านวัตถุ แต่การรวมกันของอิสลามมีความหมายมากไปกว่านั้น เพราะอิสลามได้วางหลักการด้านศีลธรรม และจริยธรรมทางเศรษฐกิจเอาไว้ โดยนำเอาคุณค่าทางวัตถุและจิตใจมารวมเข้าไว้ด้วยกันในการกำหนดพฤติกรรมของระบบเศรษฐกิจ และแนวทางจริยธรรมทางเศรษฐกิจของอิสลามจะบังเกิดผลขึ้นมา ก็ต่อเมื่อได้มีการเอานำหลักการหุ้นส่วนมาใช้ ด้วยการแจกจ่ายผลประโยชน์จากความร่ำรวยในระบบซะกาต มีความยุติธรรมแก่สังคม และที่สำคัญที่สุดก็คือเป็นธนาคาร หรือระบบการเงินที่เป็นไปตามหลักการของศาสนาอย่างเคร่งครัด

ธนาคารอิสลามเป็นธนาคารที่มีบทบาทของระบบการเงินแบบใหม่เกี่ยวกับการแบ่งปันความเสี่ยงและผลกำไรระหว่างผู้ยืม และผู้ฝากเงินยืมเงินจะไม่อยู่บนพื้นฐานของดอกเบี้ย ขณะที่ผู้ฝากเงินไว้กับธนาคารอิสลามก็จะไม่คาดหวังผลตอบแทนของดอกเบี้ยที่เป็นอัตราตายตัวจากผลการดำเนินงานของธนาคาร อันเป็นลักษณะพิเศษของธนาคารอิสลาม 

ธนาคารอิสลามเหมือนกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป 2 ประการ คือ การให้บริการทางการเงิน และบทบาทหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของสังคม ความแตกต่างของธนาคารอิสลาม คือ การดำเนินงานภายใต้กฎหมายอิสลาม (ชะรีอะห์) ที่ เข้มงวดในเรื่องข้อห้ามเกี่ยวกับดอกเบี้ย ซึ่งเป็นบัญชาของอัลเลาะห์ (คัมภีร์อัลกุรอาน) การไม่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต้องห้ามทั้งหลาย เช่น การพนัน สุกร เป็นต้น และกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่สร้างมูลค่าให้กับสังคม