รากเหง้าของความคิดตกขอบในสังคมมุสลิม
  • 22 กุมภาพันธ์ 2018 at 15:26
  • 1942
  • 0

รากเหง้าของความคิดตกขอบในสังคมมุสลิม
 

 

โดย…วิสุทธิ์  (ฏ็อบรอนีย์)   บิลล่าเต๊ะ

 

ผู้ที่ติดตามความเป็นไปของสังคมทุกวันนี้จะตระหนักแก่ใจได้อย่างหนึ่งว่า ความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่ทั่วไป ความขัดแย้งแม้เป็นเพียงจุดเล็ก ๆ  แต่บ่อยครั้งคนเราก็ใช้ความรุนแรงเข้าจัดการ ก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างที่ไม่ควรเกิด จนดูเหมือนชีวิตมนุษย์จะมีค่าน้อยกว่าผักหญ้าริมถนนเข้าไปทุกที แม้สังคมมุสลิมที่ได้ชื่อว่าเป็นสังคมเคร่งศาสนา ก็ยังไม่อาจหลีกหนีความรุนแรงได้ จะพูดให้ตรงลึกลงไปอีกก็คือความรุนแรงในรูปของสงครามและการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของมุสลิม ในขณะที่ความรุนแรงในพื้นที่อื่น ๆ มักเป็นอาชญากรรมส่วนตัวและเกิดด้วยแรงกิเลสตัณหาของปัจเจกบุคคลเป็นสำคัญ

 

                การค้นหาคำตอบว่าอะไรคือต้นเหตุของความคิดตกขอบซึ่งนำไปสู่ความรุนแรงในสังคมมุสลิม อาจไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องถูกต้องนัก หากไม่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ของมุสลิมเอง ซึ่งฝ่าฟันคลื่นของความ รุนแรงมาอย่างโชกโชนระลอกแล้วระลอกเล่าในสายธารประวัติศาสตร์อันยาวไกล ทั้งความรุนแรงภายในและผลจากการปฏิสัมพันธ์กับประชาชาติอื่น ทั้งความรุนแรงที่คู่ควรกับสถานการณ์และความรุนแรงที่ไม่สอดคล้องกับเหตุผลและความชอบธรรม

 

                การเข้าถึงประวัติศาสตร์เพื่อรับรู้ถึงบ่อเกิดของความคิดตกขอบในอดีตอาจช่วยให้การแก้ไขปัญหา  ณ ปัจจุบัน ทำได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ  ผ่อนคลายความรุนแรงและกอบกู้ชีวิตของผู้บริสุทธิ์ได้มากขึ้น

 

                เป็นที่ทราบกันว่าวิถีชีวิตมุสลิมผูกพันกับศาสนาอิสลามอย่างเป็นด้านหลัก และควรทราบว่าบทบัญญัติต่าง ๆ ของอิสลามมุ่งปกป้องสิ่งสำคัญสูงสุดในชีวิตมนุษย์ 6 ประการ เรียกว่า  “มะกอซิด อัชชะรีอะฮ”  ได้แก่

 

  1. ชีวิต
  2. ศาสนา
  3. สติปัญญา
  4. ทรัพย์สิน
  5. เผ่าพันธุ์
  6. เกียรติยศชื่อเสียง

 

 

 

การทำลายชีวิตและทรัพย์สินผู้อื่นอย่างง่ายดายและปราศจากความเมตตาสงสารจึงย่อมขัดแย้งกับเจตนารมณ์แห่งอิสลาม และนับแต่การอุบัติขึ้นของอิสลามในนครมักกะฮ์ในคริสตศตวรรษที่ 7 ความสงบและสันติก็เข้าปกคลุมคาบสมุทรอาหรับ อันเนื่องจากหัวใจของผู้คนได้ซึมซับเอาหลักธรรมแห่งอิสลามไว้อย่างเต็มเปี่ยม ตราบจนปี ฮิจรอฮ์ศักราชที่ 40 สามสิบปีภายหลังศาสดามุหัมมัด (ซ็อลฯ) สิ้นชีพ สังคมมุสลิมก็เริ่มเผชิญกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่หลายครั้งก็ชักนำให้ผู้คนมีความคิดตกขอบและนำไปสู่การล่วงละเมิดบทบัญญัติแห่งศาสนา ซึ่งที่สุดก็คือการก่อความรุนแรงในสังคมนั่นเอง

 

ปรากฏการณ์ดังกล่าว มีปัจจัยหนุนส่งสำคัญที่อาจสรุปได้ดังนี้

 

 

 

1.   ปัจจัยทางพันธุกรรม

 

บุคลิกและอุปนิสัยของคนเราส่วนหนึ่งนั้นถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ รวมทั้งความก้าวร้าวรุนแรงหรือความอ่อนโยนด้วย  เห็นได้จากวจนะแห่งบรมศาสดามุหัมมัด (ซ็อลฯ) ที่กล่าวถึง ซุล คุวัยซิรอฮ์ ซึ่งบังอาจกล่าวหาศาสดาว่าไม่มีความยุติธรรมว่า

 

“เทือกเถาเหล่ากอของคน ๆ นี้ เป็นพวกที่อ่านอัลกุรอานอยู่เพียงแค่คอหอย พวกเขาพร้อมที่จะฆ่ามุสลิมแต่จะละวางพวกบูชาเจว็ด”   (บุคอรีย์ มุสลิม)   

 

ซุล คุวัยซิรอฮ์ นี้เองเป็นต้นกำเนิดของกลุ่มคอวาริจญ์ที่มีความคิดตกขอบรุนแรง กระทั่งมองคนอื่นที่คิดเห็นแตกต่างจากตนเป็นอริศัตรูที่ต้องเข่นฆ่า  แม้กระทั่งคอลีฟะฮ์อลีผู้ทรงธรรมก็ถูกลอบสังหารในปี ฮ.ศ. 40 / ค.ศ. 661

 

                อย่างไรก็ตาม แม้จะสืบทอดกมลสันดานก้าวร้าวรุนแรงมาอย่างไร แต่หากปัจจัยภายนอกไม่หนุนส่ง ก็ยากที่คนเหล่านี้จะก่อความรุนแรงได้ จึงแม้จะมีคนประเภทนี้อยู่ในยุคแห่งบรมศาสดา (ซ็อลฯ) แต่พวกเขาก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะชักชวนใครให้ก่อความรุนแรงได้ อันเนื่องจากความรู้ ความเข้าใจ อย่างถ่องแท้ต่อหลักธรรมของศาสนา ปัจจัยภายนอกจึงเป็นกุญแจสำคัญในการสกัดกั้นความคิดตกขอบในตัวของคน ๆ หนึ่ง มิให้ส่งผลเสียหายต่อสังคมโดยรวม

 

 

 

2.   ปัจจัยทางชาติพันธุ์

 

 

 

สงครามระหว่างมุสลิมด้วยกันเองหลายครั้ง มีมูลเหตุมาจากการยึดมั่นในชาติตระกูลที่แตกต่างกันของแต่ละกลุ่ม  ทั้ง ๆ ที่อิสลามวางบรรทัดฐานความประเสริฐของบุคคลไว้ที่ความยำเกรงต่ออัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้า (อัลกุรอาน, อัลหุญุรอต : 13) และห้ามการยึดถือบุคคลเหนือหลักความถูกต้อง (อัลกุรอาน, เตาบะฮ์ : 24)  กระนั้น เมื่อใดที่สำนึกแห่งศาสนธรรมในจิตใจแผ่วอ่อนลง คนเราก็มักถูกความรู้สึกรักชาติตระกูลครอบงำจนกลายเป็นความตกขอบและอาจลงมือเข่นฆ่าผู้อื่นได้โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม

 

เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่นำความขมขื่นมาสู่มุสลิมทุกคน คือ การเข่นฆ่าหุซัยน์ ผู้เป็นบุตรแห่งอลีที่เมืองกัรบาลา ประเทศอิรัก ในปี ฮ.ศ.61/ค.ศ.680 มีแรงผลักดันที่สำคัญนอกเหนือจากประเด็นทางการเมืองแล้วก็คือเผ่าพันธุ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งกลุ่มที่ลงมือยึดไว้อย่างสุดโต่ง ผลของเหตุการณ์ครั้งนั้นนำไปสู่การกำเนิดของความสุดโต่งอีก ขั้วหนึ่ง ได้แก่ กลุ่มชีอะฮ์ที่ยึดมั่นถือมั่นในตัวอลีและวงศ์วานของท่านจนเกินความพอดี

 

 

 

แม้จะผ่านความเจ็บปวดรวดร้าวอันเป็นผลจากการยึดมั่นในเชื้อชาติเผ่าพันธุ์อย่างตกขอบมาแล้วเช่นนั้น แต่ดูเหมือนคนบางกลุ่มกลับไม่สำเหนียกถึงบาดแผลที่เคยประสบ ความพลิกผันในประวัติศาสตร์ที่มักจบลงด้วยการเข่นฆ่าทำลาย ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในกาลต่อมา แม้กระทั่งการล่มสลายของอาณาจักรออตโตมาน ในปี ค.ศ. 1924 ก็มีปัจจัยทางเชื้อชาติกัดเซาะอยู่เบื้องหลัง และที่ยังอยู่ในความทรงจำของคนในยุคนี้ได้ดีก็คือสงครามกลางเมืองในอัฟกานิสถานภายหลังอดีตสหภาพโซเวียตถอนกำลังออกไป สภาพของนักรบอัฟกันซึ่งเคยได้รับการยกย่องจากมุสลิมทั่วโลกว่าเป็น “มุญาฮิดีน” กลับแปรเปลี่ยนเป็นแก๊งค์อาชญากรที่รบพุ่งกันเองและต่างก็พยายามยื้อแย่งอำนาจมาสู่กลุ่มพวกของตน ภายในฝุ่นควันของสงครามกลางเมืองในอัฟกานิสถานนี้ สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความอัปยศดังกล่าวได้แก่ การยึดมั่นถือมั่นอย่างตกขอบในเผ่าพันธุ์ของแต่ละกลุ่มในอัฟกานิสถานเอง

 

บทเรียนเช่นนี้น่าจะทำให้มุสลิมร่วมสมัยตระหนักได้ว่าการต่อสู้เพื่อยกฐานะชาติพันธุ์ของตนโดยการเข่นฆ่าทำลายผู้อื่นอย่างขาดความชอบธรรม ไม่เคยได้รับพระเมตตาจากอัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้าให้ยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคงเลย และน่าจะเตือนสติประเทศมุสลิมบางประเทศได้ว่า อย่าช่วยเหลือผู้อื่นเพียงเพราะมีชาติพันธุ์ เดียวกับตนโดยมองข้ามความถูกต้องเหมาะสมตามหลักศาสนา ทั้งควรเป็นข้อคิดสำหรับชาวมุสลิมทุกคนว่า  อย่าปล่อยให้ความเกลียดชังที่มีต่อคนต่างเผ่าพันธุ์มาทำลายความยุติธรรมและเมตตาธรรมที่พึงมีในจิตใจ   จนสามารถลงมือฆ่าผู้อื่นได้อย่างโหดเหี้ยมไร้ความปราณี

 

 

 

3.  ปัจจัยทางการเมือง

 

อำนาจเป็นสิ่งที่หอมหวานเสมอ หากผู้แสวงหามุ่งหวังเพียงอำนาจโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม  อำนาจทางการเมืองเมื่อบวกกับความคลั่งเชื้อชาติ เคยก่อโศกนาฏกรรมต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์มานับไม่ถ้วน ในประวัติศาสตร์อิสลาม ความขัดแย้งทางการเมืองในปลายยุคคุลาฟาอ์รอชิดีนหนุนส่งให้ผู้มีความคิดอ่านก้าวร้าวอยู่แล้วจัดตั้งกลุ่มคอวาริจญ์ขึ้น กล่าวหาผู้มีความคิดเห็นแตกต่างจากตนเป็นคนนอกศาสนา (กุฟร์) และใช้อาวุธทำลายผู้คนจนล้มตายดุจใบไม้ร่วง

 

ความกระสันอยากในอำนาจจนเกินขอบเขตความพอดี ทำให้ราชวงศ์อุมัยยะฮ์กับอับบาซียะฮ์ขับเคี่ยวกันเป็นเวลาถึงเกือบศตวรรษ (ฮ.ศ.40 – ฮ.ศ.132) ช่วงเวลาของการขับเคี่ยวระหว่างสองกลุ่ม เป็นทั้งช่วงเวลา ของการ    ทรยศหักหลังและการเข่นฆ่าทำลายล้างศัตรูทางการเมือง ราชวงศ์อับบาซียะฮ์ซึ่งสามารถโค่นราชวงศ์อุมัยยะฮ์ลงได้ในปี ฮ.ศ.132 / ค.ศ.750  กลับมาห้ำหั่นกันเองจนขุนศึกคนสำคัญอย่างอบูมุสลิมแห่งคุรอซานยังถูกรุมสังหารอย่างเหี้ยมโหดในปี ฮ.ศ.137 / ค.ศ.755 ขณะอยู่บนบัลลังก์อำนาจคอลีฟะฮ์อับบาซีย์ยังพยายามขจัดคู่แข่งทางการเมืองอย่างชีอะฮ์ทุกรูปแบบ จนกระทั่งฝ่ายหลังต้องหลบไปเผยแพร่ลัทธิของตนทางตะวันออกของคาบสมุทรอาหรับและสามารถรวบรวมกำลังพลได้มากในบาห์เรนภายใต้การนำของอบี ตอฮิร สุลัยมาน กลุ่ม คนซึ่งบ่มเพาะความเกลียดชังต่อราชวงศ์อับบาซียะฮ์นี้ถึงกับลงมือยกกำลังพลเข้าสู่มักกะฮ์ในปี ฮ.ศ.317 ทำลายกะบะฮ์  ถอดหินดำจากที่ตั้ง และสังหารหมู่ผู้ที่กำลังประกอบพิธีฮัจญ์ในมัสยิดอัลหะรอมไปถึงประมาณ 30,000 คน จากนั้นก็โยนศพของเหยื่อเหล่านั้นลงในบ่อน้ำซัมซัม! 

 

 

 

เหตุการณ์ทำนองนี้น่าจะมีนัยยะสอนใจคนรุ่นหลังได้ว่า

 

  1. อำนาจทางการเมืองหากตกอยู่ในมือของคนที่ขาดสำนึกแห่งศาสนธรรมมักนำไปสู่ความตกขอบในเรื่องการช่วยเหลือพวกพ้องและปกป้องผลประโยชน์ส่วนตน
     
  2. แม้อิสลามจะสอนให้เคารพในเลือดเนื้อและชีวิต แต่อิสลามก็มักถูกนำไปเป็นเครื่องมือในการเข่นฆ่าผู้อื่นอยู่เสมอ โดยน้ำมือของผู้มีความคิดตกขอบในการตอบโต้ความอยุติธรรม
     
  3. การเมืองที่ขาดความยุติธรรมและขาดการเสียสละเพื่อส่วนรวมมักผลักดันให้คนบางกลุ่มเกิดความคิดตกขอบในการต่อต้านสังคมเสมอและยังนำไปสู่ความคิดตกขอบด้านศาสนาด้วย เช่น กำเนิดของชีอะฮ์และคอวาริจญ์  เป็นต้น

 

 

 

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ แม้จะเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความคิดและการกระทำอันถือได้ว่าตกขอบในอดีต แต่ปัจจัยดังกล่าวจะเกิดในยุคใดก็ย่อมให้ผลไม่ต่างกัน ดังนั้น ตราบถึงปัจจุบัน ความคิดตกขอบในสังคมมุสลิมก็ยังมีอยู่  ทั้งนี้ เพราะปัจจัยต่าง ๆ ที่ได้กล่าวถึงแล้วนี้ยังคงอยู่หรืออาจกล่าวได้ว่าความเข้มของปัจจัยเหล่านี้มีมากกว่าในอดีตด้วยซ้ำไป เนื่องจากสิ่งเดียวที่จะช่วยดับความร้อนแรงจากเปลวเพลิงแห่งอารมณ์อันก้าวร้าว เปลวเพลิงจากความคลั่งเชื้อชาติและเปลวเพลิงจากความกระสันอยากทางการเมือง อันได้แก่อิสลามบริสุทธิ์ ถูกสังคมจำกัดบทบาทอยู่เพียงพิธีกรรมไม่กี่อย่างแล้วปล่อยช่องว่างให้เป็นสิทธิของกิเลส ตัณหา อารมณ์ คอยบงการชี้นำ จนแม้ศาสนาที่บริสุทธิ์ก็พลอยมัวหมอง เพราะตกเป็นเครื่องมือของคนที่คลั่งไคล้เหล่านั้น

 

เมื่ออิสลามเป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยดับเปลวเพลิงของความคลั่งไคล้และแค้นเคืองได้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้รู้ (อุละมาอ์) ที่มีอิสลามอยู่กับตัว ต้องนำโอสถขนานนี้มาบำบัดความทุกข์ร้อนที่กำลังเกาะกินใจของผู้คนอยู่ คือ ผู้รู้ซึ่งอิสลามถือว่าเป็นทายาทสืบทอดศาสนธรรมจากบรมศาสดา (ซ็อลฯ) ที่สำคัญผู้รู้เองต้องไม่ปล่อยให้ความรู้สึกรักและห่วงใยในพวกพ้องของตนมาปิดหูปิดตาจนไม่ยอมรับรู้ว่ามีความคิดและการกระทำตกขอบของมุสลิมซึ่งขัดแย้งกับหลักธรรมอิสลามอยู่มากมายในสังคมนี้ สังคมที่ถึงพร้อมด้วยเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งสามารถ ชักนำสู่ความตกขอบได้เช่นเดียวกับที่เคยเกิดมาแล้วในประวัติศาสตร์อันยาวนาน การปฏิเสธความจริงและโยนความผิดให้กับผู้อื่นร่ำไป เป็นการกระทำที่ดูเหมือนจะพยายามล้มล้างประวัติศาสตร์ซึ่งไม่อาจเป็นไปได้ ซ้ำยังทำให้ปัญหา ยิ่งบานปลายและกลายเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของอิสลามให้มัวหมองยิ่งขึ้นไปอีก

 

แน่นอน ความรุนแรงในที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย มีส่วนผสมของเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ร่วมอยู่มากมาย ปัจจัยทางการเมืองและการปกครองเป็นเรื่องที่รัฐและเจ้าหน้าที่รัฐต้องพึงตระหนักถึงความผิดพลาดที่ผลักดันให้ประชาชนออกห่างและไม่อยากให้ความร่วมมือด้วย  แต่การตอบโต้ความอยุติธรรมต่าง ๆ บนพื้นฐานของความคิดตกขอบสุดขั้ว โดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือย่อมเป็นหน้าที่โดยตรงของบรรดานักวิชาการอิสลามและองค์กรมุสลิมทั้งหลายที่จะต้องช่วยกันฉุดรั้งและจรรโลงความพอดีที่อิสลามวางไว้ให้เป็นบรรทัดฐานในการแก้ไขปัญหาต่อไป หาไม่แล้วผู้รู้และองค์กรมุสลิมทั้งหลาย ท่านจะตอบอัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้าว่าอย่างไร? หากพระองค์ทรงถามว่าได้ทำอะไรบ้างเพื่อปกป้องศาสนาของพระองค์จากการย่ำยีของพวกตกขอบสุดขั้วทั้งหลาย

 


 

โดย…วิสุทธิ์  (ฏ็อบรอนีย์)   บิลล่าเต๊ะ

 

หัวหน้าฝ่ายวิชาการและการต่างประเทศ

สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา