สรุป ปาฐกถาของท่าน ดาโต๊ะ ดร นัสรุดดิน มัด อีซา Dato Dr Nasharudin Mat Isa ซีอีโอของ The Global Movement of Moderates Foundation .ในงานปาฐกถาสาธารณะประจำปี เรื่อง “อิสลามกับความเป็นพลเมืองมุสลิมในสังคมไทย” เมื่อวันพุธที่ 24 มกราคม 2561 ณ ห้องประชุมชั้น 3 โรงแรมอัลมีรอซ

หนึ่งในคำสอนของอิสลามคือ การรักชาติ เป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา ( حب الوطن من الايمان )

มาเลเซียเป็นประเทศหนึ่งที่ได้เห็นปัญหาเรื่องพวกสุดโต่งที่อ้างศาสนาในการก่อการร้าย หรือก่อสงคราม ซึ่งมุสลิมส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วย แต่ส่วนใหญ่นั้นกลับนิ่งเงียบไม่ได้ออกมาพูด ทำให้คนทั่วไปที่ไม่ใช่มุสลิมเข้าใจภาพพจน์ของกลุ่มคนมุสลิมผิดเพี้ยนไปว่าเป็นกลุ่มพวกหัวรุนแรง สุดโต่ง ดังนั้นมาเลเซียจึงตั้งองค์กร เพื่อต่อต้านสิ่งเหล่านี้ และแท้ที่จริงแล้วมุสลิมส่วนใหญ่ที่สุดคือ กลุ่มเอเชีย และอาเซียน และประเทศที่มีมุสลิมมากที่สุดในโลกอยู่ในอาเซียนของเราเองคืออินโดนีเซียที่มีมุสลิมถึง 203 ล้านคน

อิสลามในบริบท ความเป็นพลเมืองในสังคมปัจจุบัน

สังคมปัจจุบันนี้ มีนิยามเกี่ยวความจงรักภักดีต่างไปจากของอิสลาม ในขณะที่อิสลามถือว่า มุสลิมทั้งหมดคือพี่น้องกัน จะต้องรักกันไว้ไม่ว่าจะเชื้อชาติใดก็ตาม คือให้ความสำคัญของศาสนามากกว่าความเป็นเชื้อชาติ แต่รัฐชาติสมัยใหม่กลับถือว่า คนในชาติ ต้องรักชาติก่อน ชาติเราต้องมาก่อน ดังนั้นการไปรักชนชาติอื่นจึงเสมือนไม่มีความจงรักภักดีต่อชาติของตัวเอง.


ดังนั้นคนในชาติ ที่ไม่ใช่มุสลิม จึงมองมุสลิมด้วยความหวาดระแวง และบางคนถึงกลับมองว่าอาจเป็นภัยต่อชาติ เกิดกลายเป็นโรคหวาดกลัวอิสลามไป ด้วยเหตุนี้ นักกฎหมายอิสลามจึงมีหน้าที่ต้องแก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนี้ ประการที่หนึ่ง เพื่อเป็นการชี้แจงให้คนต่างศาสนิกที่เกิดความหวาดระแวงนั้น ได้เข้าใจแนวทางอิสลามที่ถูกต้อง และลดความเกลียดกลัวอิสลามลงไป และช่วยให้ มุสลิมสามารถอยู่ร่วมกับศาสนาอื่นๆได้อย่างมีความสุข และประการที่สองเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่บรรดามุสลิมทั้งหมดด้วยว่า การมีชีวิตร่วมอยู่กับ ศาสนิกอื่นอย่างสันตินั้น เป็นสิ่งที่ดี การทำความดีกับศาสนิกอื่นในเรื่องทั่วๆไป เป็นสิ่งที่ดี และจะได้รับการตอบแทนจากพระผู้เป็นเจ้าด้วยสรวงสวรรค์เช่นกัน
ดังนั้นนักกฎหมายอิสลามจึงได้พัฒนาหมวดหมู่กฎหมายขึ้น ที่เรียกชื่อว่า Fiqh al-'aqalliyyat หรือ “กฎหมายอิสลามสำหรับชนกลุ่มน้อย” ขึ้น ซึ่งกฎหมายนี้จะกล่าวถึงวิธีการคิดและปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมของมุสลิมที่เป็นชนส่วนน้อยในประเทศหนึ่งๆ  นักกฎหมายมุสลิมที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้นอกจากจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายอิสลามดั้งเดิมแล้วยังต้องมีความรู้เกี่ยวกับ สังคมวิทยาสมัยใหม่ ด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง และด้าน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย

วัตถุประสงค์ของ Fiqh al-'aqalliyyat ไม่ใช่ “การสร้าง” รูปแบบใหม่ของศาสนาอิสลาม แต่เพื่อ “พัฒนา” ชุดวิธีการที่จะควบคุมการทำงานของนักกฎหมายมุสลิมให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นโดยการนำเสนอ 'กฎหมายอิสลามสำหรับกลุ่มชนกลุ่มน้อย' เพื่อให้สังคมมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อยนั้นสามารถอยู่ร่วมกับสังคมต่างศาสนิกได้อย่างเป็นปกติสุข โดยไม่ต้องละทิ้ง อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของความเป็นมุสลิมของพวกเขา
ซึ่งบริบทเช่นนี้จะพบได้ในประเทศไทย ซึ่งแตกต่างจากอิสลามในมาเลเซีย ซึ่งมีคนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม

ครั้งหนึ่ง ท่านอีหม่ามชาฟีอีได้ไปยังกรุงแบกแดดซึ่งเป็นเมืองที่คนมุสลิมส่วนใหญ่ดำเนินหลักศาสนาตามแนวทางท่านอีหม่ามฮานาฟี และท่านได้มีโอกาสได้นำละหมาด ซุบฮ์ และเป็นที่รู้กันว่า แนวทางของอีหม่ามชาฟีอี จะถือว่าการอ่านดุอาอ์กุนูตหลังรู่กัวะใน รอกาอัตที่สองเป็นสุนัตมุอักกัต คือควรทำอย่างยิ่ง และถ้าลืมก็จะต้องซูยูดซะห์วีก่อนให้สลาม แต่ในขณะเดียวกัน แนวทางของท่านอีหม่าม ฮานาฟี ซึ่งเป็นแนวทางของคนส่วนใหญ่ของกรุงแบกแดดนั้นถือว่า ไม่มีกูนูตในละหมาดซุบฮ์ และการซูยูดซะห์วี ซึ่งเป็นซุยูด แทนการลืมในละหมาดนั้น จะซูยูดหลังให้สลาม
เมื่อท่านได้มีโอกาสเป็นอีหม่ามนำละหมาดที่แบกแดด ผู้คนมุสลิมที่นั่นจึงเฝ้าดูว่า ท่านจะทำอย่างไร และในที่สุด เมื่อยืนตรงหลังรู่กัวะในรอกาอัตที่สองแล้ว ท่านก็ไม่ได้อ่านดุอากูนูต และท่านก็ไม่ได้ซูยูดซะห์วีแต่ประการใด เมื่อมีผู้ถามท่านอีหม่ามชาฟีอีถึงสาเหตุที่ท่านไม่อ่านดุอาอ์กูนูต ท่านได้กล่าวว่า เพราะท่านเคารพในความคิดเห็นของ อีหม่าม ฮานาฟี ที่เป็นเจ้าของสถานที่นั้น ท่านจึงยอมละทิ้งความเห็นของท่านเพื่อให้เกียรติกับอีหม่ามฮานาฟี


แท้จริงมีความแตกต่างกันระหว่าง อาราไบเซชั่น Arabization กับ Islamization , Arabization นั้นคือ อิทธิพลของวัฒนธรรมอาหรับที่มีต่อผู้ที่ไม่ใช่อาหรับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อชาวอาหรับได้ชัยชนะและปกครองเมืองต่างๆในยุคกลาง ทำให้วัฒนธรรมแบบอาหรับแทรกซึมเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของคนมุสลิมที่ไม่ใช่ชาวอาหรับ ทำให้ชนมุสลิมที่ไม่ใช่ชาวอาหรับเหล่านี้หันมาเรียนรู้ภาษาอาหรับ แต่งกายแบบอาหรับ พูดอาหรับ รับประทานอาหารแบบอาหรับ ทัศนคติและวิธีคิดแบบอาหรับ


ส่วน islamization หรือ อิสลามานุวัตรนั้นคือ แนวทางแบบของศาสนาอิสลามที่แท้จริง ด้วยการสังเคราะห์ แนวทางการพัฒนาการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับหลักอิสลาม ตามแบบอย่างท่านศาสดาในทุกๆแง่มุม
แนวคิดกว้างๆของ Fiqh al-'aqalliyyat คือพลเมืองทุกๆคนควรจะมีสิทธิที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นชนกลุ่มน้อยหรือ ชนส่วนใหญ่. ดังนั้นทุกๆคนต้องมีสิทธิในการเลือกปฏิบัติใด ๆ ที่เกี่ยวกับเพศหรือศาสนาได้อย่างอิสระ การจำกัดสิทธิดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและต้องได้รับการแก้ไข
ในฐานะของพลเมืองในประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็ย่อมจะต้องมีสิทธิพื้นฐานทั่วๆไป เช่น มีสิทธิในการจัดระเบียบชุมชนของตนเอง ที่เป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเป็นพลเมืองที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดี มีสิทธิในการสร้าง และมีส่วนร่วมกิจกรรมทางการเมืองใน ชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชนร่วมกัน
การที่เราเห็นวัฒนธรรมของอิสลามแพร่หลายออก ทั้งๆที่เป็นส่วนน้อยในสังคมต่างศาสนิก ไม่อยากให้มองว่าอิสลามกำลังครอบงำ ศาสนิกอื่น แต่อยากจะให้มองให้เห็นว่ามันเป็นเพียง “ ความหลากหลายของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน” เท่านั้นเอง

Fiqh ของชนกลุ่มน้อย (Fiqh al-'aqalliyyat ) ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า การดำรงอยู่ของมุสลิมในชุมชนที่ไม่ใช่มุสลิมจะต้องส่งเสริมให้มีการเจรจา หรือปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างอารยธรรม และวัฒนธรรมของอิสลาม กับวัฒนธรรมอื่น ๆ

Fiqh ของชนกลุ่มน้อย (Fiqh al-'aqalliyyat ) ไม่ได้หมายความว่าเป็น "Fiqh" ใหม่ และอิสลามได้พัฒนา สิ่งที่เรียกว่า fiq of minority มาตั้งแต่ปี 1990 เพียงแต่เน้นหนักในประเด็นว่า จะทำอย่างไร และอยู่อย่างไรในฐานะคนกลุ่มน้อย เพื่อให้สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ และสามารถอยู่ร่วมกับศาสนาอื่นได้อย่างเป็นปกติสุข

นักนิติศาสตร์รุ่นเก่าส่วนใหญ่ไม่ค่อยเน้นแนวคิดเรื่องความเป็นสากลของศาสนาอิสลาม ทั้งนี้เนื่องจากสภาพประวัติศาสตร์และสภาพทางภูมิศาสตร์ในช่วงเวลานั้นที่มุสลิมเป็นฝ่ายมีชัยและเป็นคนส่วนใหญ่ของรัฐต่างๆ ทำให้ไม่มีการเน้นถึง Fiqh ของชนกลุ่มน้อย

ทำไมถึงต้องมีกฎหมายอิสลามในสภาพคนส่วนน้อย

ประการแรก ปรากฏการณ์แห่งการแสวงหาความยุติธรรมและการหลบภัยของมุสลิมเข้าไปอยู่ในดินแดนที่มิใช่มุสลิมเพิ่งจะมีขึ้นในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ในยุคเริ่มต้นของ Fiqh

ประการที่สอง ความคิดเกี่ยวกับการเป็นพลเมืองยุคใหม่มักเกี่ยวเนื่องกับการเมืองและภูมิศาสตร์มากกว่าความหมายแฝงทางด้านศาสนา - วัฒนธรรม

ประการที่สาม อำนาจสูงสุดของกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งบังคับให้รัฐต้องปกป้องและใช้ความยุติธรรมต่อผู้อพยพก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับชาว Fiqh ดั้งเดิม

ประการที่สี่ เหตุผลในการใช้อำนาจในช่วงเวลาของนักวิชาการยุคแรกอิงอยู่กับความขัดแย้งและจักรวรรดิที่ไม่มีพรมแดนซึ่งแตกต่างจากปัจจุบัน และยุคโลกาภิวัตน์และการมีปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกับต่างศาสนิกมากขึ้น ทำให้เราต้องอยู่ร่วมกันกับชนต่างศาสนิกนั้น อย่างสมบูรณ์แบบ


วัตถุประสงค์ของ Fiqh ของชนกลุ่มน้อย (Fiqh al-'aqalliyyat )

เพื่อเป็นการช่วยผู้ที่กำลังมองหาจุดยืนที่เหมาะสมระหว่างการเป็นมุสลิมที่ทุ่มเทและพลเมืองที่จงรักภักดี เพื่อให้มุสลิมซึ่งเป็นชนส่วนน้อยสามารถ อยู่ร่วมกับชนส่วนใหญ่ในสังคมอย่างปกติสุข มีเกียรติ ด้วยความรัก ความสามัคคีกับคนในชาติโดยไม่เสียอัตลักษณ์ ของ มุสลิม และโดยสร้างประโยชน์ ให้กับ ประเทศชาติได้เท่าเทียมกับศาสนิกอื่นๆ