หลักทางสายกลาง (الوسطية) ในอัลกุรอานและอัลฮะดีษ
  • 23 กุมภาพันธ์ 2018 at 14:36
  • 16287
  • 0

หลักทางสายกลาง (الوسطية) ในอัลกุรอานและอัลฮะดีษ

 

หลักสายกลางเป็นหลักทางธรรมชาติที่อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้กำหนดไว้ในอิสลาม และเป็นเอกลักษณ์อันเด่นชัดของอิสลามและของประชาชาติมุสลิม ซึ่งมีลักษณะของความสมดุลในทุกสรรพสิ่งที่อัลลอฮ์สร้าง บทบัญญัติต่างๆของอัลลอฮ์คำนึงถึงความสมดุลในตัวของมนุษย์ และวิถีการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความสมดุลระหว่างจิตวิญญาณกับด้านวัตถุ โลกอาคิเราะฮ์กับโลกดุนยา จิตใจกับร่างกาย วะฮ์ยูกับสติปัญญา สิทธิกับหน้าที่ ปัจเจกบุคคลกับหมู่คณะ ความเป็นจริงกับอุดมคติ และระหว่างความคงที่กับความเปลี่ยนแปลง

สายกลางหรือหลักทางสายกลางมาจากภาษาอาหรับว่า  وَسَط หรือ وَسَطِية มีความหมายทางภาษาว่า กลาง ตรงกลาง หรือท่ามกลาง นักปราชญ์นิยามคำวสฏียะฮ์ (وسطية)ไว้หลายความหมาย เช่น

1- ความสมดุล (التوازُن) ระหว่างวัตถุกับจิตวิญญาณ ศาสนากับการดำเนินชีวิต

2- หมายถึงความยุติธรรม (العدل) เพราะความยุติธรรมอยู่ตรงกลางระหว่างสองฝ่าย ไม่ลำเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง หรือขั้วใดขั้วหนึ่ง

3- หมายถึงสิ่งที่ดีที่สุด (الخَيرية والأفْضَلية) เพราะสิ่งที่ดีที่สุดมักจะอยู่ตรงกลางระหว่างสองสิ่งที่ตกขอบ หรือปรากฏเด่นชัดท่ามกลางสิ่งต่างๆอันมากมาย

4- หมายถึงความเที่ยงตรง (الاستِقامَة) ไม่เบี่ยงเบนออกนอกทางฃ

ความหมายข้างต้นสื่อถึงลักษณะสายกลางในคำสอนอิสลามที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ท่ามกลางคำสอนต่างๆอันมากมายที่เบี่ยงเบน และเอนเอียงไปจากลักษณะดังกล่าว ประชาชาติสายกลางจึงครอบคลุมในทุกทุกความหมาย ทั้งความดีเลิศ ความยุติธรรม รูปธรรมและนามธรรม การจัดระเบียบ หลักคิด ความเชื่อ ความรู้สึกและมุมมอง และในการจัดความสัมพันธ์ต่าง ๆ

อย่างไรก็ดี การเข้าใจหลักทางสายกลางในอิสลามอย่างถ่องแท้จำเป็นต้องเข้าใจจากตัวบทคัมภีร์อัลกุรอานและตัวบทจากอัลฮะดีษ ที่เรียกร้องมนุษยชาติไปสู่ทางสายกลาง เพราะในหลายอายะฮ์อัลกุรอานได้สื่อความหมายคำสอน وسطية   บ้างด้วยถ้อยคำที่ชัดเจน และบ้างสื่อเป็นนัยยะ ในกรอบประเด็นต่างๆ เช่น

1. ความเป็นประชาชาติสายกลาง

{وَكَذَٰلِكَ جَعَلْنَاكُمْ أُمَّةً وَسَطًا لِّتَكُونُوا شُهَدَاءَ عَلَى النَّاسِ وَيَكُونَ الرَّسُولُ عَلَيْكُمْ شَهِيدًا}   (البقرة من آية 143)

 
“และในทำนองเดียวกัน เราได้ให้พวกเจ้าทั้งหลายเป็นประชาชาติสายกลาง เพื่อว่าเจ้าทั้งหลายจะได้เป็นสักขีพยานแก่มวลมนุษย์ และศาสนทูต(มูฮัมมัด) ก็จะเป็นสักขีพยานแก่พวกเจ้า”

2. เส้นทางที่ไม่เบี่ยงเบน

หลักทางสายกลางในอัลกุรอานได้ถูกอธิบายด้วยคำว่า  الصراط المستقيم (หนทางที่เที่ยงตรง) ถึง 33 ครั้งใน
อายะฮ์และซูเราะฮ์ต่างๆ กัน เพื่อสื่อถึงแนวทางสายกลางของอิสลามว่าเป็นแนวทางที่ไม่สุดโต่งเหมือนกับแนวทางของนะศอรอที่ยกย่องท่านนบีอีซาอะลัยฮิสสลามจนเลยเถิดเป็นพระเจ้า และเป็นแนวทางที่ไม่หย่อนยานเหมือนแนวทางของยะฮูดีที่ดูถูกเหยียดหยามและสังหารนบีของอัลลอฮ์ แนวทางดังกล่าวคือแนวทางของผู้ศรัทธาที่ได้รับความโปรดปรานและความพอพระทัยจากอัลลอฮ์ และคือแนวทางของเหล่านบี เหล่าผู้ทำดี และเหล่าผู้มีความสัจจริง

3. การเลยเถิดในเรื่องศาสนา

อัลกุรอานได้ประณามความเลยเถิดและความสุดโต่งในเรื่องศาสนาทั้งด้านพฤติกรรมและความเชื่อ โดยการหยิบยกพฤติกรรมของนะศอรอ (ชาวคัมภีร์) มาเป็นตัวอย่าง ดังที่อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า :
 

{ يَا أَهْلَ الْكِتَابِ لَا تَغْلُوا فِي دِينِكُمْ وَلَا تَقُولُوا عَلَى اللَّهِ إِلَّا الْحَقَّ إِنَّمَا الْمَسِيحُ عِيسَى ابْنُ مَرْيَمَ رَسُولُ اللَّهِ وَكَلِمَتُهُ أَلْقَاهَا إِلَىٰ مَرْيَمَ وَرُوحٌ مِّنْهُ فَآمِنُوا بِاللَّهِ وَرُسُلِهِ وَلَا تَقُولُوا ثَلَاثَةٌ انتَهُوا خَيْرًا لَّكُمْ إِنَّمَا اللَّهُ إِلَٰهٌ وَاحِدٌ سُبْحَانَهُ أَن يَكُونَ لَهُ وَلَدٌ }(النساء 171)

“ชาวคัมภีร์ทั้งหลายทั้งหลาย จงอย่าเลยเถิดในศาสนาของพวกเจ้า และจงอย่ากล่าวเกี่ยวกับอัลลอฮฺ นอกจากสิ่งที่เป็นจริงเท่านั้น แท้จริง อัล-มะซีฮ์ อีซาบุตรของมัรยัมนั้น เป็นเพียงศาสนทูตของอัลลอฮฺ และเป็นเพียงดำรัสของพระองค์ที่ได้ทรงกล่าวมันแก่มัรยัม และเป็นเพียงวิญญาณหนึ่งจากพระองค์ เท่านั้น ดังนั้นจงศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และบรรดาศาสนทูตของพระองค์เถิด และจงอย่ากล่าวว่า(อัลลอฮ์)มีสามองค์ (คือพระบิดา พระบุตร และพระจิต)จงหยุดยั้งเสียเถิด มันเป็นสิ่งดียิ่งแก่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺคือพระเจ้าผู้ได้รับการเคารพสักการะเพียงองค์เดียวเท่านั้น พระองค์ทรงบริสุทธิ์จากการที่มีพระบุตร”

ยิ่งไปกว่านี้ วิถีชีวิตของท่านนนบี (ซ.ล.) เป็นวิถีชีวิตสายกลาง เพราะท่านนบีเป็นทั้งนักบวช และเป็นทั้งฆราวาสในขณะเดียวกัน ท่านเป็นศาสนทูตที่มีทุกมิติของความเป็นมนุษย์ ในตัวบทของอัลหะดีษมีคำสอนมากมายที่สื่อถึงทางสายกลางในการดำเนินชีวิต บางตัวบทใช้ถ้อยคำที่ชัดเจน และบางตัวบทใช้ถ้อยคำที่สื่อถึงเจตนารมณ์ของทางสายกลาง ดังต่อไปนี้

" إذا سألتم اللهَ فاسْأَلوه الفِرْدّوسَ فإنه أَوْسَط الجَنَّة وأعْلَى الجَنة "البخاري رقم 2627


“เมื่อพวกท่านขอต่ออัลลอฮ พวกท่านจงขออัลฟิรเดาส์ มันคือสวรรค์ชั้นเลิศสุด และสูงสุด”

 

(" خَيْرُ الأمورِ أَوْساطُها " (البيهقي في السنن 3/273 وانظر تخريج الحديث في كشف الخفاء 1/469-470

 
“กิจการที่ดีที่สุด คือปานกลาง” หมายถึง มีความพอเหมาะพอดี

 

 

องค์ประกอบของทางสายกลาง

อย่างไรก็ตาม การจะเข้าใจหลักทางสายกลางอย่างถ่อแท้ก็ต้องเข้าใจในสามองค์ประกอบหลักของทางสายกลาง คือ :

1-ความสุดโต่งและความเลยเถิด (الغُلو والإفْراط)

2-ความละเลยและความหย่อนยาน (الجَفاء والتفْريط)

3-หนทางที่เที่ยงตรง (الصراط المستقيم) 

หลักทางสายกลางเป็นหลักที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความสุดโต่งหรือเลยเถิดกับความละเลยหรือหย่อนยาน เป็นหลักของความเที่ยงตรงที่อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในซูเราะฮ์อัลฟาติฮะฮ์

 

{اهْدِنَا الصِّرَاطَ الْمُسْتَقِيمَ صِرَاطَ الَّذِينَ أَنْعَمْتَ عَلَيْهِمْ غَيْرِ الْمَغْضُوبِ عَلَيْهِمْ وَلَا الضَّالِّينَ}    (الفاتحة: 6-7)

 “ ขอพระองค์ได้ทรงชี้นำเราสู่หนทางที่เที่ยงตรง คือทางของบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ทรงโปรดปรานพวกเขา ไม่ใช่ทางของพวกที่ถูกกริ้ว และไม่ใช่ทางของพวกที่หลงผิด”

ท่านนบีได้อธิบายทางที่ถูกกริ้วว่า หมายถึงทางที่ละเลยและหย่อนยานของพวกยะฮูดี และอธิบายทางที่หลงผิดว่า หมายถึงทางที่สุดโต่งและเลยเถิดของพวกนัศรอนี

 

คุณสมบัติของหลักทางสายกลาง

นักวิชาการได้รวบรวมคุณสมบัติ และกรอบของทางสายกลางว่าจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังนี้ :

 

1. الْخَيْرِيَّة  ความดี หมายถึงความดีของประชาชาติมุสลิมที่อัลลอฮ์ได้กล่าวถึงในอัลกุรอานว่า :

 

“ พวกเจ้านั้น เป็นประชาชาติที่ดียิ่งที่อุบัติขึ้นสำหรับมนุษย์ชาติ โดยที่พวกเจ้าใช้ให้ปฏิบัติสิ่งที่ชอบ และห้ามสิ่งที่มิชอบ และศรัทธามั่นต่ออัลลอฮ์”  (อาลิอิมรอน : 110)

 

2. الْعَدْل  ความยุติธรรม หมายถึงความยุติธรรมที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะมุสลิมเท่านั้น แต่เป็นสิทธิ์ของมนุษย์ทุกคนที่พึงได้รับ ดังที่อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า :

 

{ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُونُوا قَوَّامِينَ لِلَّهِ شُهَدَاءَ بِالْقِسْطِ وَلَا يَجْرِمَنَّكُمْ شَنَآنُ قَوْمٍ عَلَىٰ أَلَّا تَعْدِلُوا اعْدِلُوا هُوَ أَقْرَبُ لِلتَّقْوَىٰ } (المائدة 8)

 
“ ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีเพื่ออัลลอฮ์ เป็นพยานด้วยความเที่ยงธรรม และจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใด ทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า ”

 


3. الْيُسْر ورَفْع الْحَرَج  ความสะดวกง่ายดายและไม่ลำบาก  หมายถึง ความสะดวกง่ายดายและความไม่ลำบากในการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติทางกายภาพในรูปของคำพูดและการกระทำหรือทางด้านจิตใจในรูปของความเชื่อความศรัทธา สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอัลลอฮ์ที่ได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า

 

{وَمَا جَعَلَ عَلَيْكُمْ فِي الدِّينِ مِنْ حَرَجٍ}     (الحج من آية 78)

“ และอัลลอฮ์มิได้ทรงทำให้เรื่องของศาสนาเป็นการลำบากแก่พวกเจ้า ”

 

4. الْحِكْمَة   มีวิทยปัญญา  หมายถึงวิทยปัญญาที่แฝงเร้นอยู่และสามารถนำมาอธิบายได้ในแง่ของคุณประโยชน์ (مصالح) ที่จะเกิดขึ้นด้านหนึ่ง และความเสื่อมเสีย (مفاسد) ที่จะต้องถูกทำลายไปอีกด้านหนึ่ง ดังนั้นการกำหนดความเป็นสายกลางจึงต้องอาศัยปัจจัยของวิทยปัญญา (حكمة) อีกปัจจัยหนึ่งมาพิจารณาด้วย ดังที่อัลลอฮ์ได้ตรัสถึงความสำคัญของเรื่องนี้ว่า :

{ ادْعُ إِلَىٰ سَبِيلِ رَبِّكَ بِالْحِكْمَةِ وَالْمَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ}  (النحل من آية 125)


“จงเรียกร้องเชิญชวนสู่หนทางแห่งพระผู้อภิบาลของเจ้าด้วยวิทยปัญญา(ฮิกมะฮ์)”

 

 

5. الاستِقامَة  ความเที่ยงตรง หมายถึงความเที่ยงตรงในแนวทางและหลักคำสอนไม่เบี่ยงเบนไปจากแนวทางที่ถูกต้อง ดังที่อัลลอฮ์ตรัสว่า:

{وَهَٰذَا صِرَاطُ رَبِّكَ مُسْتَقِيمًا}  (الأنعام من آية 126)


“และนี่แหละคือทางแห่งพระผู้อภิบาลของเจ้าโดยมีสภาพอันเที่ยงตรง”


เป็นความเที่ยงตรงที่ยึดติดอยู่กับอัลกุรอานและอัสซุนนะฮ์ของท่านนบี (ซ.ล.) และยึดติดอยู่ กับบทบัญญัติของ
อิสลาม ทางสายกลางจึงเป็นทางของมุสลิมผู้ยืนหยัด ไม่ใช่ทางของผู้ที่เรียกตัวเองว่ามุสลิมสายกลางหรือมุสลิมสากลที่พร้อมจะละทิ้งหลักการเพื่อทำตัวเข้ากับกลุ่มคนทุกกลุ่ม


6. الْبَيْنِيَّة   การอยู่ตรงกึ่งกลาง หมายถึงการอยู่ท่ามกลางระหว่างสองขั้วหรือหลายขั้วที่แตกต่างกันหรือขัดแย้งกัน ความเป็นทางสายกลางจึงต้องมีความหมายในทางเป็นกลางที่ไม่เอียงข้างหรือลำเอียงไปทางข้างไดข้างหนึ่ง เป็นจุดของความสมดุลระหว่างสองสิ่งหรือหลายสิ่งที่มีความหมายตรงข้ามกันหรือขัดแย้งกัน

 

สรุป

การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับทางสายกลางในอิสลามนับว่ายังมีอยู่น้อยมากในสังคมมุสลิมไทย การรณรงค์เพื่อเผยแพร่และทำความเข้าใจต่อเรื่องนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะในสภาวะของสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และการแตกแยก ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่างๆมากมาย ประเด็นปัญหาคือ เราจะเอาหลักคำสอนอันทรงคุณค่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ? สิ่งนี้เป็นความรับผิดชอบของผู้รู้และนักวิชาการอิสลาม ที่จะต้องนำคำสอนสายกลางที่ปรากฏในตัวบทอัลกุรอาน และในแบบฉบับของท่านนบี (ซ.ล.) มาเผยแพร่ต่อสาธารณชนให้มากยิ่งขึ้น เพราะความรู้ความเข้าใจในด้านนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากกว่าความรู้ความเข้าใจในหลายๆด้านที่ สร้างเงื่อนไขความแตกต่าง และนำไปสู่ความแตกแยกในที่สุด ขอดุอาอ์จากอัลลอฮ์ได้ทรงประทานความสำเร็จและทางนำที่ดีแก่ผู้ที่ทำงานเพื่ออิสลามทุกคน  อามีน